โลกไม่ได้กลม…อย่างที่เราคิด : ชีวิตไม่จำเป็นต้องมีไว้พุ่งชนเสมอไป #ศาสตร์เกษตรดินปุ๋ย

#ศาสตร์เกษตรดินปุ๋ย : ขอบคุณแหล่งข้อมูล : หนังสือพิมพ์แนวหน้า

https://www.naewna.com/lady/467131

news_default

โลกไม่ได้กลม…อย่างที่เราคิด : ชีวิตไม่จำเป็นต้องมีไว้พุ่งชนเสมอไป

วันอาทิตย์ ที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2563, 06.00 น.

หลังการเผยแพร่ข่าวสารบนโลกออนไลน์เกี่ยวกับ “นโยบายการทำงานแบบยืดหยุ่น” ของ “ซานนามาริน” นายกรัฐมนตรีคนล่าสุดของประเทศฟินแลนด์ ซึ่งจะลดเวลาในการทำงานลงเป็นวันละ 6 ชั่วโมง และทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์ ด้วยความเชื่อที่ว่า ชั่วโมงการทำงานที่ลดลง จะทำให้เกิดประสิทธิภาพในการทำงานมากขึ้น ซึ่งกลายเป็นที่สนใจต่อนักบริหารจัดการทั่วโลก แต่ก็มีความผิดพลาดเกิดขึ้นจนได้เมื่อทวิตเตอร์อย่างเป็นทางการของรัฐบาลฟินแลนด์ได้สื่อสารชี้แจงเกี่ยวกับนโยบายนี้ว่า ไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด

โดยข้อเท็จจริงแล้ว “ซานนา มาริน” นายกรัฐมนตรีวัย 34 ปี ได้ว่าถึงแนวคิดดังกล่าวจริง แต่เป็นช่วงเวลาในตอนที่เธอดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และได้ไปบรรยายในงานครบรอบ 120 ปีของพรรคสังคมประชาธิปไตยแห่งฟินแลนด์ เกี่ยวกับการจัดสรรเวลาในการทำงานใหม่ว่า “ฉันคิดว่า ประชาชนสมควรที่จะได้มีเวลาอยู่กับครอบครัว ทำงานอดิเรก และใช้ชีวิตมากกว่านี้” ซึ่งน่าจะไกลจากความเป็นไปได้ไม่มากนะ เพราะแม้จะยังไม่มีวาระในการเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี แต่ก็เป็นแนวคิดของผู้บริหารสูงสุดที่สามารถสั่งการให้เป็นนโยบายได้อย่างไม่ยากเย็นนัก คำถามก็เหลือแค่เพียงว่า ผลลัพธ์ที่ได้มันจะเป็นไปในแบบที่เธอว่าไว้หรือไม่เท่านั้นเอง

ในการทดลองหนึ่งของบริษัทไมโครซอฟท์ ในประเทศญี่ปุ่น ที่มีชื่อว่า“Work-Life Choice ChallengeSummer 2019” ได้เชิญชวนให้พนักงานกว่า 2,300 คน หยุดงานทุกวันศุกร์ต่อเนื่องกัน 5 สัปดาห์ โดยไม่มีปัญหาเกี่ยวกับเรื่องของการหักเงินเดือน ลงโทษ หรือถูกเจ้านายต่อว่า

ผลลัพธ์ที่ออกมาก็น่าสนใจเป็นอย่างมาก เนื่องจากหลังพนักงานมีวันหยุดเพิ่มขึ้นเป็น 3 วันต่อสัปดาห์มีการประเมินออกมาว่า พวกเขามีความสุขมากขึ้น และกระฉับกระเฉงในการทำงาน ส่งผลต่อประสิทธิภาพในการทำงานที่สำคัญ บริษัทยังได้อานิสงส์จากวันหยุดที่เพิ่มขึ้นด้วยรายจ่ายทางธุรการที่ลดลง อาทิ ค่าไฟ และการใช้เครื่องพิมพ์เอกสาร

“ผมต้องการให้พนักงานได้สัมผัสประสบการณ์ด้วยตัวเอง ว่าพวกเขาสามารถทำผลงานให้ดีขึ้นได้ด้วยเวลาการทำงานที่ลดลงถึง 20%” นี่คือสารจาก “ทาคุยะ ฮิราโนะ” ผู้บริหารของไมโครซอฟท์ ผ่านทางหน้าเว็บไซต์ของบริษัท

แม้ความสำเร็จที่เกิดขึ้นจะยังไม่ถูกนำมาปรับใช้ให้เป็นนโยบายของบริษัทแห่งนี้อย่างถาวร แต่ทางผู้บริหารก็มีแนวทางการทดลองในรูปแบบอื่นๆ เกี่ยวกับการลดชั่วโมงในการทำงาน เพื่อสร้างประสิทธิภาพของพนักงาน วางอยู่ในแผนประจำปีของบริษัทเอาไว้ เพื่อทดสอบจนแน่ใจในผลลัพธ์ที่แสดงออกมาให้ชัดเจนที่สุด อาทิ การลดชั่วโมงในการทำงานจาก 8 เหลือ 6 ชั่วโมง และการเลือกวันหยุดประจำสัปดาห์เอง เป็นต้น

อีกแนวทางหนึ่งที่ประเทศญี่ปุ่นได้นำมาทดลองใช้อย่างเป็นทางการ ในการลดเวลาการทำงานลง แม้จะไม่ได้เป็นการตัดเวลาออกไป แต่ก็กำหนดเวลาการทำงานที่แน่นอนเอาไว้ เพื่อลดปัญหา“บ้างาน” จนเสียชีวิต ซึ่งเป็นปัญหายอดฮิตของมนุษย์เงินเดือนแดนปลาดิบในหลายๆ ปีที่ผ่านมา

โดยผู้ว่าราชการในจังหวัดโอซากา “ฮิโรฮูมิ โยชิมูระ” ได้ออกมาตรการ“ปิดระบบคอมพิวเตอร์อัตโนมัติ” ต่อราชการประจำประมาณ 7,600 คน รวมถึงตำรวจและโรงเรียนรัฐบาล เพื่อลดการทำงานล่วงเวลา ด้วยการส่งคำเตือนก่อนเวลาเลิกงาน 30 นาที บนเครื่องคอมพิวเตอร์ของพนักงานทุกคน จากนั้นคอมพิวเตอร์จะทำการปิดตัวเองเมื่อถึงเวลาที่กำหนด ซึ่งหลังจากนำมาตรการดังกล่าวมาบังคับใช้แล้ว ก็สามารถประหยัดงบประมาณไปได้กว่า 50 ล้านเยน จากเรื่องค่าน้ำค่าไฟ และค่าทำงานล่วงเวลา แต่เรื่องการแก้ปัญหาการ “บ้างาน” ของชาวญี่ปุ่นนั้น ยังคงเป็นคำถามกันอยู่ เพราะค่านิยมในการทำงานลักษณะนี้ ถูกส่งต่อความเชื่อมาอย่างยาวนาน และยากจะเปลี่ยนความเข้าใจในเรื่องนี้ได้ แม้จะมีกฎหมายปฏิรูปแรงงานออกมาแล้วก็ตาม

ดังนั้น เรื่องของการทำงาน ที่เกี่ยวเนื่องกับเวลาในการปฏิบัติ ที่มี 2 ทฤษฎีกำลังปะทะกันอยู่นั้น จึงกลายเป็นความสนใจของนักวางแผนนโยบายเป็นอย่างมากในเรื่องของคำตอบที่พวกเขาต้องการ ว่าควรวางอยู่บนรูปแบบใดถึงจะได้รับประสิทธิภาพสูงสุดจากการทำงานของพนักงานคนหนึ่ง

บทความหนึ่งของ “ทิม วอล์กเกอร์”ชาวอเมริกันที่เข้าไปอยู่ในระบบการศึกษาของฟินแลนด์ในฐานะคุณครู ที่แปลกใจกับระบบการเรียนการสอนแบบ 45/15 เป็นอย่างมาก ในตอนที่เขาเข้าไปสอนใหม่ๆที่โรงเรียนจะให้นักเรียนอยู่ในห้องเรียน45 นาที และออกไปพักนอกห้องเรียน 15 นาทีสลับกันไปในแต่ละคาบเรียนของทั้งวัน ซึ่งในตอนแรกเขาไม่เห็นด้วย และไม่ยอมนำระบบนี้มาใช้ในคาบเรียนของเขา

จนกระทั่ง วันหนึ่ง “ทิม วอล์กเกอร์”อยากจะพิสูจน์ให้ชัดว่า ตกลงระบบ 45/15กับระบบปกติแบบไหนจะมีประสิทธิภาพกว่ากัน เขาจึงลองใช้ระบบ 45/15 กับนักเรียนของเขาเพื่อเปรียบเทียบในสิ่งที่เกิดขึ้น และผลของการประเมินก็ทำให้เขาได้ทราบว่า ช่วงเวลา 15 นาทีนั้นเป็นช่วงเวลาที่พิเศษมากเสมือนเป็นการชาร์จพลังให้กับนักเรียนอีกครั้ง นี่เองที่ทำให้การกลับไปเข้าห้องเรียนหลังจากการพัก นักเรียนจะมีความกระปรี้กระเปร่า เต็มไปด้วยสมาธิ และกระหายที่จะเรียนรู้มากขึ้น

“ทอม แลตต์” (Tom Rath) ผู้เขียนหนังสือ Are You Fully Chargedได้หยิบเอาแนวคิดนี้ไปเปรียบเทียบกับตารางการทำงานของคนทั่วไป (พนักงานเงินเดือน) โดยไปหาข้อมูลจากแอพพลิเคชั่นเดสก์ไทม์ (Desk Time) บริการสำหรับเก็บข้อมูลการทำงานของพนักงานในแต่ละวัน โดยเมื่อเข้าไปดูสถิติของพนักงาน 36,000 คนหรือ 10% ของทั้งหมด ซึ่งเป็นสัดส่วนของพนักงานที่ทำผลงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ก็จะมีการแสดงออกมาว่าคนกลุ่มนี้จะใช้เวลาทำงานประมาณ52 นาที และจะพัก 17 นาที จากนั้นก็จะกลับมาทำงานอีกครั้งอย่างจดจ่อ

จูเลีย กิฟฟอร์ด (Julia Gifford) ผู้เขียนรายงานเกี่ยวกับเรื่องนี้ในเดสก์ไทม์ ได้ออกมาบอกว่า “คนเหล่านี้ใช้เวลา 52 นาทีอย่างคุ้มค่า โดยตั้งเป้าหมายที่จริงจังในการทำงานไว้หลังจากนั้นก็พักสักครู่ เพื่อเตรียมกลับไประเบิดพลังลุยงานอย่างเต็มที่ต่อ”

ที่สำคัญ เธอยังตั้งข้อสังเกตว่าพนักงานระดับหัวกะทิ 10% นี้ จะใช้เวลา 17 นาที ในช่วงพักหมดไปกับเดินเล่น ผ่อนคลาย และผละตัวเองออกจากสิ่งรบกวนต่างๆ อาทิ การเล่นโทรศัพท์ หรือการเช็คเฟซบุ๊ค เป็นต้น “ทอม แลตต์” จึงได้แนะนำให้ผู้อ่านหนังสือของเขาทดลองใช้ระบบ 45/15 ในการทำงาน และปรับช่วงเวลาพักให้เหมาะสมกับบริบทของงาน เพราะเชื่อว่าการพัก หรือใช้เวลาในการทำงานให้น้อยลง จะทำให้เกิดศักยภาพของงานมากยิ่งขึ้น แม้แต่จะเอาเวลาในนั้นไปออกกำลังกายก็ตาม เพราะมีงานวิจัยออกมาบอกกับเราแล้วว่า บริษัทที่จัดเวลาให้พนักงานในการออกกำลังกายระหว่าง “วันทำงาน” นอกจากจะไม่มีผลกระทบด้านลบกับงานแล้ว ยังทำให้สุขภาพของพนักงานดียิ่งขึ้น และส่งผลให้กระบวนการทำงานของพนักงานคนนั้นสมบูรณ์มากขึ้นกว่าเดิม

ข้อมูลทั้งหมดนี้ อาจไม่ใช่ข้อสรุปที่ฟันธงในเรื่องของ “การลดเวลาในการทำงานลง” เพื่อ “เพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน” ได้ชัดเจนนักแต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า “การพัก” ไม่ใช่ปฏิปักษ์ของความสำเร็จ

Leave a comment