3 ปี รัฐบาล คสช. “บิ๊กตู่” เปิดใจ ภารกิจปฏิรูปประเทศ

ศาสตร์เกษตรดินปุ๋ย : ขอบคุณแหล่งข้อมูล : หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

โดย ไทยรัฐฉบับพิมพ์ 19 มิ.ย. 2560 05:01

อ่านข่าวต่อได้ที่: https://www.thairath.co.th/content/976365

“ที่เชิญมาคุยกันเนี่ย ผมไม่ได้คิดจะเป็นศัตรูกับสื่อนะ จริงๆผมเคารพทุกสื่อ เพราะอ่านทุกวัน ถามมาสิ ผมตอบท่านได้หมด ที่เห็นผมดุผมว่า ก็ไม่ได้อะไรหรอก ผมเป็นคนแบบนี้แหละ แต่ผมก็น้อยใจเป็นเหมือนกันเวลาถูกพวกคุณเล่นงาน…แม้จะยอมรับว่า บางอย่างเร็ว บางอย่างช้า และบางอย่างเกิดความผิดพลาดขึ้นก็ตาม”

นี่เป็นคำทักทายแรกของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)

หลังแนะนำตัวกันเป็นที่เรียบร้อย บทสนทนาในประเด็นสำคัญที่ประสงค์จะพูดคุยกันก็เริ่มต้นขึ้น

“3 ปีที่เข้ามาทำงานน่ะ ผมอยากบอกพวกคุณให้เข้าใจว่า ผมและคณะตั้งใจทำงานให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติมากที่สุด โดยเฉพาะในการปฏิรูปประเทศ ผมต้องทำให้เกิดเป็นรูปธรรมขึ้นให้ได้ ถ้าไม่ทำ หรือทำไม่สำเร็จ ครั้งหน้าผมจะบอกให้ว่า ไม่มีใครทำได้”

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวด้วยว่า อยากให้เข้าใจว่า การรัฐประหารของ คสช.ไม่เหมือนกับการรัฐประหารในประเทศอื่นๆ เพราะไม่ได้ไปทำร้ายใคร หรือจับใครขังคุก แต่เปิดโอกาสให้ทุกคนที่กระทำความผิดผ่านกระบวนการทางกฎหมายเอง

 

“ถ้าไม่ได้ปฏิวัติรัฐประหารเข้ามาวันนั้น ผมคงต้องทะเลาะกับคนทั้งสองฝ่าย ที่ฝ่ายหนึ่งเตรียมเล่นงาน ขณะที่อีกฝ่ายเตรียมการรับมือ แต่เมื่อเข้ามาแล้ว ผมก็ขอแค่ทำงานของผมให้สำเร็จ ไม่ใช่ปล่อยให้ทุกอย่างแตกสลายกระจัดกระจายไป…

ที่ต้องทำให้สำเร็จ ก็เพราะไม่มีโอกาสให้แก้ตัวอีกแล้ว ทุกสิ่งจะล้มครืนลง และจะหนักหนาสาหัสกว่าที่กำลังเป็นอยู่ในวันนี้อีกมาก…”

นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงความสำคัญของการต้อง “จับเข่าคุยกัน” ว่า วันนี้ความมั่นคงของบ้านเมืองยังคงเป็นสิ่งสำคัญสูงสุดอยู่ ขณะที่ประเทศไทยมีความจำเป็นอย่างยิ่งยวดที่จะต้องปรับเปลี่ยนบริบทในโครงสร้างทางสังคมใหม่ทั้งหมด…

ถ้ายังคิดแบบเก่า ทำแบบเก่าอยู่ ประเทศไทยจะเดินไปข้างหน้าไม่ได้

ว่าแต่รัฐบาลจะประสบความสำเร็จกับการปฏิรูปประเทศ และการปรับโครงสร้างทางสังคมในทุกภาคส่วนหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับ “สื่อ” เป็นสำคัญ ถ้าสื่อทำความเข้าใจกับประชาชนได้ว่า รัฐบาลพยายามแก้ไขสิ่งต่างๆที่หมักหมม เละเทะมานานให้กลับคืนสภาพที่ดีกว่า ถูกต้อง และเท่าเทียมกันภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติที่วางไว้ 6 ประการคือ

1.สร้างความมั่นคง 2.เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน 3.พัฒนาทรัพยากรมนุษย์ 4.ลดความเหลื่อมล้ำ-สร้างความเป็นธรรม 5.รักษาสิ่งแวดล้อมตามพระราชดำริของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และ 6.บริหารจัดการประเทศชาติให้เกิดสงบสุข ประเทศไทยก็จะเดินหน้าไปพร้อมๆกับประเทศเพื่อนบ้านได้ด้วยดี

“ทั้งหมดอยู่ที่การไว้เนื้อเชื่อใจกัน ไม่หวาดระแวงกัน แก้ปัญหาต่างๆที่มีไปด้วยกัน เชื่อมั่นในกันและกัน ดูแลผลประโยชน์ของประชาชนให้เกิดความเท่าเทียมกัน…หน้าที่ของผมมีแค่นี้…

ตลอด 3 ปีที่ผ่านมา จะเห็นว่ามีหลายสิ่งหลายอย่างดีขึ้นจริงๆ อย่างเรื่องของขีดความสามารถของประเทศที่เพิ่มขึ้นจากการจัดอันดับโดย World Competitiveness Center ของ International Institute for Management Development หรือ IMD ของสวิตเซอร์แลนด์ ประจำปี 2560 ซึ่งประกาศผลเมื่อช่วงกลางเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา นั่นก็ใช่”

ประเทศไทยมีพัฒนาการด้านขีดความสามารถในการแข่งขันดีขึ้นตามลำดับ จากปี 2559 ซึ่งมีคะแนนอยู่ที่ 74.681 ก็ได้รับการปรับคะแนนขึ้นเป็น 80.095 ได้เลื่อนอันดับขึ้นจาก 28 เป็น 27 จาก 63 ประเทศ และเมื่อเทียบกันในหมู่ประเทศอาเซียน ไทยอยู่ในอันดับ 3 รองจากสิงคโปร์ มาเลเซีย สูงกว่าฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย

การจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศต่างๆนั้น IMD พิจารณาจากคุณสมบัติ 4 ด้านด้วยกัน ได้แก่ สภาวะทางเศรษฐกิจ (Economic Performance) ประสิทธิภาพของภาครัฐ (Government Efficiency) ประสิทธิภาพของภาคธุรกิจ (Business Efficiency) และโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ (Infrastructure) เป็นสำคัญ

ปัจจัยที่ทำให้ประเทศไทยมีอันดับดีที่สุดคือ สภาวะทางเศรษฐกิจ ซึ่งปรับขึ้น 3 อันดับมาอยู่อันดับที่ 10 ขณะที่คุณสมบัติด้านประสิทธิภาพของภาครัฐปรับตัวดีขึ้น 3 อันดับเช่นกัน โดยมาอยู่ในอันดับที่ 20 ส่วนประสิทธิภาพของภาคธุรกิจ และโครงสร้างพื้นฐานยังอยู่ในอันดับที่ 25 และ 49 คงเดิม

กระนั้นก็ตาม หลังการก่อสร้างเส้นทางรถไฟฟ้า 10 สายเสร็จสิ้นตามกำหนดเวลา ปัจจัยด้านโครงสร้างพื้นฐานของประเทศไทยควรจะได้รับการปรับอันดับขึ้นแน่นอน

“ผมอาจจะปฏิรูปประเทศไม่ได้ทั้ง 100 เปอร์เซ็นต์ เพราะการปฏิรูปหรือปรับโครงสร้างทางสังคมให้ได้ทุกภาคส่วนต้องใช้เงินและเวลา จำเป็นต้องค่อยๆแกะสิ่งที่หมักหมมไว้นานออกมาทีละส่วน…”

เช่นในเรื่องของเศรษฐกิจหลายคนอาจจะบอกว่า ไม่เกิดและยังไม่เติบโตตามเป้าหมาย

ก็เมื่อเงินที่เคยอยู่นอกระบบหรืออยู่ข้างล่างหายไป เงินจากบ่อน จากซ่องหายไปอีกก้อน และเงินจากเศรษฐกิจรากหญ้าอย่างการบริหารจัดการที่เอาหาบเร่แผงลอยออกจากทางเท้าหายไปอีกก้อนใหญ่ ขณะที่เงินจากคนขี้โกง และทุจริตหายไปพร้อมๆกันด้วย ก็เป็นหน้าที่ที่รัฐบาลต้องมาดูว่า จะช่วยเหลืออะไรกับคนที่ยากจน ด้อยโอกาส และได้รับผลกระทบจริงๆจากมาตรการของรัฐบาลได้บ้าง

สิ่งที่รัฐบาลทำภายใต้แนวทาง Negative Income Tax ก็คือ แจกเงินให้คนจนที่มีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจนที่ระดับ 30,000 บาทต่อปี เดือนละ 2,500 บาท หรือเฉลี่ยเพียงวันละ 83 บาทนั่นเอง โดยรัฐได้เปิดให้คนกลุ่มนี้ไปขึ้นทะเบียนไว้แล้ว 14 ล้านคนเศษ หลังจากนี้จะส่งนักศึกษาออกไปสำรวจว่ายากจนระดับใดบ้าง ได้รับความช่วยเหลือจากรัฐไปบ้างไหม เพื่อแยกแยะจัดกลุ่มความช่วยเหลือให้ชัดเจนไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อน

“เราตั้งเป้าจะทำให้คนที่มีรายได้ 30,000 บาทต่อปี มีรายได้เพิ่มขึ้นเป็น 100,000 บาท และขยับเป็น 300,000 บาท ด้วยการเปิดโอกาสให้เข้าถึงแหล่งเงินทุน เพื่อนำไปใช้ในการสร้างงานในอนาคต โดยให้แบงก์รัฐอัดฉีดเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ และพักหนี้ให้ในระยะเวลาที่กำหนด”

เวลาเดียวกันก็เปิดโอกาสให้ผู้ค้าหาบเร่แผงลอยไปใช้พื้นที่บนถนนเลียบคลองผดุงกรุงเกษมด้านหลังทำเนียบรัฐบาล เพื่อบรรเทาผลกระทบจากการเอาแผงลอยออกจากทางเท้า ซึ่งรัฐบาลไม่สามารถจะปล่อยให้ใครใคร่ค้า ก็ค้าตามใจตัวเองโดยไม่ยึดกฎกติกาได้อีกต่อไป

“เราไม่ได้จัดการกับปัญหาหนึ่งแล้วไม่สนใจต่อผลกระทบที่เกิดขึ้น แต่ตามไปดูด้วยว่า จะช่วยอะไรพวกเขาได้บ้าง เพราะรู้ว่าเงินหายไปจากระบบจำนวนมาก ส่วนคนชั้นกลางกับธุรกิจขนาดย่อมและขนาดกลาง (SMEs) รัฐก็ให้แบงก์ปรับลดดอกเบี้ยเงินกู้ลง และตั้งกองทุนขึ้นมาช่วยเหลือ…เราจะไม่แก้ไขปัญหาแบบเก่าที่หมดปีไปกลับมาขอใหม่อีก เพราะไม่มีเงินมากพอจะช่วยใครได้เหมือนระบบประชานิยม”

นายกรัฐมนตรีรู้ดีว่าประเทศไทยยังมีคน 1.0, 2.0 และ 3.0 อยู่มาก จึงจำเป็นต้องแยก 1.0 และ 2.0 ออกมาพัฒนาศักยภาพให้ผู้ใช้แรงงานในระดับต่างๆมีขีดความสามารถเพิ่มขึ้น และเมื่อเทคโนโลยีเข้ามามากขึ้น เร็วขึ้น ก็ต้องวางแผนการใช้เทคโนโลยีเพื่อช่วยในห่วงโซ่ตรง 3.0 ให้พัฒนาขึ้นเป็นทรัพยากรมนุษย์ในระดับ 4.0 ได้ เมื่อเศรษฐกิจประเทศใช้คนน้อยลง และใช้หุ่นยนต์แทนที่มากขึ้น คนในระดับ 3.0 จึงเป็นกำลังสำคัญที่จะต้องได้รับการต่อยอดการพัฒนาขึ้นไป

“ส่วนคนในภาคการเกษตร ต่อไปนี้จะเพาะปลูกพืชผลการเกษตรตามความต้องการของผู้ซื้อและตลาด ไม่ใช่เพาะปลูกตามความต้องการของตนเอง”

ทุกๆสาขาของเกษตรกรรมไทย จะได้รับโอกาสจากรัฐบาลในการสร้างความเข้มแข็ง การมีทางเลือกที่มากขึ้น มีแหล่งเรียนรู้เพิ่มขึ้น เพื่อเพิ่มรายได้ และการจ้างงานอันเป็นภาคเศรษฐกิจที่แท้จริงมากขึ้น โดยรัฐบาลจะเข้าไปจัดตั้งศูนย์บริการ และถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตรประจำตำบลขึ้น ซึ่งตามโรดแม็ปต้องจัดให้มีมากกว่า 8,000 แห่ง

มาถึงตรงนี้ พล.อ.ประยุทธ์ชวนเราคุยเรื่อง ข้อกำหนดการทำประมงสากล (IUU) และการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) ว่า หลายประเทศในอาเซียน โดยเฉพาะอินโดนีเซียเดินทางมาขอพบ และแจ้งให้ทราบว่า พวกเขากำลังรอประเทศไทยจัดทำแผนการทำประมง และการบินให้สำเร็จ ก่อนจะขอนำสิ่งนี้ไปเป็นแผนแม่บทการทำประมง และการบินพลเรือนในประเทศเขา

“ผมต้องทะเลาะกับนายทุนประมงรายใหญ่ๆ เพื่อให้ชาวประมงรายย่อยๆสามารถกลับมาจับปลาในทะเลได้มากขึ้น และมีรายได้จากการทำประมงที่ถูกต้องตามกฎกติกาสากลมากขึ้น มันเหมือนเราเปิดแหล่งน้ำใหม่โดยการเอาปลาไปปล่อยในทะเลเยอะๆ โดยเราจัดหาเบ็ดให้ สอนวิธีตกปลาให้ได้จำนวนมากๆอย่างเท่าเทียมกัน ไม่ใช่ให้เบ็ดตกปลาไปแล้ว ไม่มีปลาเลยสักตัว”

ส่วนที่มีคนพูดว่าต่างชาติไม่อยากคบรัฐบาลทหารน่ะ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ถ้าเป็นจริงก็คงไม่มีชาติใดมาขอพบที่ทำเนียบรัฐบาลทุกวันอย่างที่เป็นอยู่ และชาติที่มาต่างก็เห็นด้วยกับแผนปฏิรูปประเทศไทย ซึ่งเขาไม่เคยเห็นรัฐบาลทหารประเทศใดบริหารราชการแผ่นดินในลักษณะนี้มาก่อน

“เขาแสดงความห่วงใยเหมือนๆเกษตรกรที่มาพบผมว่า นโยบายหรือโรดแม็ปที่รัฐบาลชุดนี้วางไว้ อาจไม่เกิดความต่อเนื่องหรือกลัวว่า การปฏิรูปประเทศไทยจะทำไม่สำเร็จ แต่ผมก็บอกไปตรงๆว่า โรดแม็ปมีระยะเวลาที่ต้องดำเนินการตามที่วางไว้ เมื่อถึงเวลาเลือกตั้งก็ขอให้คนไทยไปเลือกคนดีๆเข้ามา ถ้ารัฐบาลใหม่จะไม่ทำต่อ ก็ต้องไปพูดกันในรัฐสภา ไม่ก็ต้องไปว่ากันในศาลรัฐธรรมนูญ…

บางคนจะตะแบงให้ผมเร่งรัดใช้อำนาจพิเศษ หรือมาตรา 44 โดยไม่ดูผลกระทบที่จะตามมา”

แม้โครงสร้างสังคมไทยจะต้องได้รับการปฏิรูปกันใหม่ทั้งระบบ หมายถึงทำทุกอย่างใหม่ ทำให้ดีขึ้นและเอาใจใส่กับทุกเรื่อง จนต้องมาจัดวาง และร้อยเรียงเรื่องราวต่างๆเข้าด้วยกันใหม่หมดก็ตาม แต่เรื่องใดทำได้ก่อน ก็ให้ทำทันที ส่วนเรื่องใดทำแล้วส่งผลกระทบ ก็จำต้องหยุดตรวจสอบก่อน

นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงระบบการศึกษาไทยที่ผ่านมาว่า ทำกันไว้เละเทะมานาน แต่จะเปลี่ยนได้มากน้อยแค่ไหน จำเป็นต้องใช้เวลา ซึ่งแต่ละกระทรวงมีโรดแม็ปกำหนดเวลาการทำงานของตนไว้ว่าภายใน 3-5 ปี จะต้องได้เห็นการเปลี่ยนแปลง

“แต่จะเปลี่ยนเดี๋ยวนี้ วันนี้เป็นไปไม่ได้ ครูกว่า 400,000 คน คงจะลุกฮือขึ้น”

พล.อ.ประยุทธ์ยังเล่าด้วยว่า รัฐบาลนี้พยายามดูแลประชาชนหลายกลุ่มให้ได้รับความเป็นอยู่ในชีวิตที่ดีขึ้น สิ่งที่ได้ทำเป็นคู่ขนานกันไปก็คือ ส่งเสริมความเป็นอยู่ระดับตำบล ตำบลละ 5 ล้านบาท จำนวน 7,255 ตำบล คิดเป็นวงเงินรวม 36,000 ล้านบาทเศษ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจที่ซบเซาให้ผู้คนมีเงินจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น

เช่นเดียวกับการเพิ่มเบี้ยยังชีพให้คนชราที่ยากจน และออกมาตรการช่วยเหลือผู้สูงอายุ ทั้งทางด้านภาษี ที่อยู่อาศัย หรือแม้แต่บุตรที่ให้การดูแลบิดามารดา “ที่ผ่านมามีใครเคยทำไหม มีใครมองเห็นเรื่องนี้ว่า กำลังจะกลายเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศในอนาคตไหม ไม่มีหรอก”

อย่างไรก็ตาม ความพยายามจะทำคลอดมาตรการต่างๆภายใต้งบประมาณรายจ่ายรัฐที่มีจำกัดเพียงปีละ 2.9 ล้านล้านบาทนั้น ไม่เพียงพอจะดูแลประชาชน 100 เปอร์เซ็นต์ได้ รัฐบาลจึงจำเป็นต้องหารายได้เพิ่มขึ้น

“ถ้าไม่ยากจน ก็ไม่ควรไปใช้สิทธิเอาเบี้ยคนจน หรือคนชรามาใช้ สละสิทธิให้เขาไป รัฐก็จะมีเงินพอช่วยคนได้มากขึ้น ทุกวันนี้ก็มีทั้งรถไฟฟรี รถเมล์ฟรี แต่คนมีสตางค์กลับไปใช้แทน ส่วนคนจนไม่กล้าใช้เพราะกลัวถูกเก็บเงิน คนจนในประเทศจึงกลายเป็นพลเมืองชั้นสองไปทั้งๆที่ไม่ควรจะเป็น”

ส่วนการดำเนินงานตามโครงการรถไฟความเร็วสูงบนเส้นทางสายไหมใหม่ One Belt One Road ของจีนนั้น นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า เขาเองรู้สึกอายที่ 3 ปีผ่านไป ยังไม่สามารถดำเนินการโครงการนี้ได้ แม้จะรู้ว่าเส้นทางสายไหมที่ไม่ผ่านไทยจะทำให้จีนไม่ประสบความสำเร็จก็ตาม แต่ก็ทำให้ไทยไม่ได้รับประโยชน์ตามที่ควรจะเป็นด้วย!

ก่อนจบการสนทนาที่ทำให้เรามีความเข้าใจการทำงานของนายกรัฐมนตรีและรัฐบาลมากขึ้น เราได้ถามความรู้สึกของ พล.อ.ประยุทธ์เกี่ยวกับเสียงเรียกร้องที่จะให้เขาอยู่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อไป ได้รับคำตอบว่า…

จะอยู่ได้อย่างไร ถ้าพรรคการเมืองต่างๆรวมหัวกันเตะโด่งตัวเขาออกมา!

“กฎหมายมีห้วงเวลาว่าจะต้องเลือกตั้งกันเมื่อใด กระบวนการต่างๆก็ต้องพร้อม แต่ทั้งหมดขึ้นอยู่กับคนไทยจะตระหนักถึงบ้านเมืองมากแค่ไหน…

ขึ้นอยู่กับคนไทยคิดอย่างไรกับโจทย์ที่ว่าการเมืองกับความล้มเหลวของประเทศชาติ หรือการเมืองกับความเป็นความตายของประเทศชาติ…อะไรสำคัญกว่ากัน?!”

คงจะจริงอย่างที่นายกรัฐมนตรีพูด!!

ทีมเศรษฐกิจ

 

Leave a comment