ปลูกพริกไทยซีลอน พืชใหม่มีอนาคต ที่ ตะพานหิน พิจิตร (ตอนจบ)

ศาสตร์เกษตรดินปุ๋ย : ขอบคุณแหล่งข้อมูล : หนังสือเทคโนโลยีชาวบ้าน

http://info.matichon.co.th/techno/techno.php?srctag=05016151159&srcday=2016-11-15&search=no

วันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559 ปีที่ 29 ฉบับที่ 635

บันทึกไว้เป็นเกียรติ

ทวีศักดิ์ ชัยเรืองยศ

ปลูกพริกไทยซีลอน พืชใหม่มีอนาคต ที่ ตะพานหิน พิจิตร (ตอนจบ)

มาดูวิธีการปลูกพริกไทยซีลอน ที่อำเภอตะพานหิน จังหวัดพิจิตร ต่อจากฉบับที่ผ่านมา ของคุณประเสริฐ จันทโรทัย อยู่บ้านเลขที่ 115 หมู่ที่ 1 ตำบลวังสำโรง อำเภอตะพานหิน จังหวัดพิจิตร โทร. (087) 841-2310 ถึงเรื่อง การให้น้ำ โดยคุณประเสริฐ เล่าว่า ตนเองประยุกต์ใช้ระบบน้ำแบบเดินสายน้ำ PE ขนาดเล็ก เดินขึ้นไว้บนยอดเสาค้างพริกไทย เมื่อเวลาเปิดน้ำ น้ำก็จะไหลจากด้านบนลงล่าง ทำให้เสาปูนมีความชุ่มชื้น ลดความร้อนของเสาปูน แล้วน้ำก็จะไหลลงสู่โคนเสา (ค่าอุปกรณ์ระบบน้ำ ประมาณ 5,000 บาท ต่อ 200 หลักพริกไทย)

ระยะเวลาการให้น้ำ

หลังปลูกควรรดน้ำทุกวันหรือวันเว้นวัน เมื่อพริกไทยตั้งตัวได้ ลดเหลือ 2-3 วัน ต่อครั้ง พริกไทยที่ให้ผลผลิตแล้ว ควรให้ 3-4 วัน ต่อครั้ง ตามสภาพดินฟ้าอากาศ ในฤดูแล้งอาจประหยัดการให้น้ำโดยการคลุมดินในแปลงปลูกด้วยฟางหรือหญ้าแห้ง แต่ในฤดูฝนไม่ควรคลุมดินจนชิดโคนต้น ควรเว้นห่างเพื่อไม่ให้โคนต้นชื้นแฉะเกินไปและเกิดโรค เตรียมให้น้ำระบายออกจากแปลงปลูกอย่างรวดเร็ว และขณะดินชื้นแฉะไม่ควรเหยียบย่ำในแปลง จะทำให้ดินแน่นทึบ รากเสียหายได้

พริกไทยจะเริ่มให้ผลผลิตหลังปลูก ประมาณ 10-14 เดือน แต่ส่วนใหญ่แล้วจะให้ผลผลิตที่อายุ 14 เดือนขึ้นไป สำหรับพริกไทยที่ได้รับการดูแลเรื่องน้ำและปุ๋ยอย่างดี อายุ 10 เดือน ก็เริ่มเก็บผลผลิตได้แล้ว พริกไทยจะให้ผลผลิตตลอดทั้งปี แต่จะให้ผลผลิตรุ่นใหญ่ปีละ 2 รุ่น รุ่นแรกเริ่มเก็บประมาณ มกราคม-มีนาคม พริกไทยที่ออกช่อช่วงนี้จะให้ผลผลิตน้อย ประมาณ 1 กิโลกรัม ต่อหลัก (ในช่วงการเก็บเกี่ยว 3-4 เดือน ต่อรุ่น) เพราะช่วงนี้ค่อนข้างแล้ง รุ่นที่ 2 เก็บประมาณมิถุนายน-สิงหาคม โดยพริกไทยที่ออกช่อช่วงนี้ จะให้ผลผลิตสูงกว่าพริกไทยที่ออกช่วงแล้ง คือประมาณ 2-3 กิโลกรัม ต่อหลัก (ในช่วงการเก็บเกี่ยว 3-4 เดือน ต่อรุ่น) โดยพริกไทยที่ออกช่อ 1 รุ่น จะเก็บเกี่ยวผลผลิตได้นานประมาณ 3-4 เดือนต่อเนื่อง ขึ้นอยู่กับสภาพอากาศและปัจจัยของแต่ละพื้นที่ด้วย เพราะปัจจุบันมีปุ๋ยและฮอร์โมนช่วยบังคับ หรือช่วยเปิดตาดอกให้พริกไทยออกดอก มีผลผลิตในช่วงเวลาที่เกษตรกรต้องการได้

พริกไทย เป็นพืชไม้เลื้อยที่มีระบบรากส่วนหนึ่งที่มีความพิเศษกว่าพืชทั่วไป ที่เราเรียกกันว่า “รากอากาศ” โดยเมื่อมีความชื้นในอากาศรากนี้จะแตกออกมาจากข้อที่มีความแก่พอเหมาะของกิ่งพริกไทย ดังนั้น ทำให้การขยายพันธุ์พริกไทยสามารถที่จะทำได้ง่าย แต่ทั้งนี้ต้องขึ้นอยู่กับปัจจัยภายนอกด้วย เช่นความชื้นในอากาศ โดยที่อุณหภูมิต้องไม่เกิน 38 องศาเซลเซียส หากพื้นที่ใดมีอุณหภูมิที่สูงกว่านี้ ควรมีซาแรนพรางแสงให้โรงเรือน หรือระบบพ่นหมอกเพื่อลดอุณหภูมิในบริเวณโรงเรือนนั้นด้วย

การขยายพันธุ์พริกไทย ที่นิยมทำมี 2 แบบ คือ

แบบการตอน ดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้นว่า พริกไทยนั้นมีระบบรากอากาศ ดังนั้นทำให้การตอนสามารถทำได้ทันที โดยนำขุยมะพร้าวที่มีความชื้นและถูกบรรจุในถุงพลาสติกขนาดเล็กผ่าออก แล้วหุ้มตรงข้อของกิ่งพริกไทยได้เลย พร้อมทั้งมัดด้วยปอฟาง จะใช้เวลาประมาณ 1 เดือน ก็จะสามารถตัดกิ่งนั้นออกมาชำลงถุงดำต่อไป

การขยายพันธุ์แบบนี้ก่อนที่ต้นพันธุ์พริกไทยจะปลูกได้นั้น จะต้องมีขั้นตอนอีกหนึ่งขั้นตอน ก็คือ ต้องนำตุ้มตอนนั้นมาชำลงถุงดำอีกครั้ง เพื่อให้ต้นพันธุ์พริกไทยมีการเจริญเติบโตของระบบรากที่มั่นคงแข็งแรงและเมื่อนำลงปลูกในแปลงจริงแล้ว จะไม่ทำให้พริกไทยนั้นตาย ควรนำมาชำอนุบาลในถุงดำแล้วอบต่อในโดมพลาสติกอีกประมาณ 45 วัน และเปิดโดมพลาสติกอีกสัก 15 วัน ก่อนนำไปปลูกหรือจำหน่ายได้

แบบปักชำ แบบนี้สามารถที่จะตัดกิ่งออกมาจากต้น ประมาณ 3 ข้อ แล้วนำมาปักลงในถุงดำที่บรรจุดินได้เลย แล้วทำไปใส่ถุงอบหรืออุโมงค์อบ หรือไว้ในที่ร่มที่มีการควบคุมอุณหภูมิเช่นที่ที่มีระบบพ่นหมอก ใช้ระยะเวลา ประมาณ 2 เดือน จึงจะสามารถนำไปปลูกลงแปลงได้ โดยทั่วไปถ้านำไปไว้ในที่ร่มและคอยรดน้ำนั้น จะมีอัตรารอด ประมาณ 70 เปอร์เซ็นต์ ดังนั้น หากต้องการให้มีอัตรารอดของการขยายพันธุ์พริกไทยแบบปักชำสูง ควรมีระบบควบคุมอุณหภูมิ

จากการขยายพันธุ์ทั้ง 2 แบบ ข้างต้นนั้น แบบที่ให้อัตรารอดสูงคือ แบบการตอน แต่ขั้นตอนการทำอาจจะใช้เวลานานสักหน่อย เพราะต้องนำมาชำลงถุงดำอีกที แต่ก็คุ้มค่ากับอัตราการรอดและความแข็งแรงของต้นพันธุ์ ส่วนแบบปักชำนั้นเหมาะกับการผลิตจำนวนมากหลักหมื่นหลักแสนต้น เพราะขั้นตอนการทำนั้นกระชับรวดเร็ว ทำได้ง่าย ขั้นตอนน้อย ดังนั้น การขยายพันธุ์ทั้ง 2 แบบ สามารถเลือกได้ตามความเหมาะสมของเกษตรกรเอง

การเลือกส่วนที่นำมาขยายพันธุ์ของพริกไทยซีลอน มีอยู่ 2 ส่วน คือ กิ่งแขนง และกิ่งไหล

1. กิ่งแขนง หรือชาวสวนพริกไทยเรียก “กิ่งปราง” ซึ่งเป็นกิ่งที่ให้ผลผลิตอยู่แล้วบนต้น เมื่อนำมาปักชำหรือตอนกิ่ง กิ่งแขนงหรือกิ่งปราง เมื่อนำไปปลูกจะมีพัฒนาการสร้างทรงพุ่มอยู่ทางด้านล่าง เป็นพุ่มจะเตี้ย ออกช่อติดผลเลยทันทีที่ตั้งตัวหรือแตกยอดใหม่หลังการปลูก กิ่งแขนงหรือกิ่งปรางจะให้ผลผลิตเร็ว หากท่านใดมีพื้นที่น้อย ต้องการนำไปใส่กระถางปลูกรับประทานในบ้านเล็กๆ น้อยๆ ก็เลือกต้นพันธุ์จากกิ่งแขนงไปปลูก

2. กิ่งไหล คือส่วนยอดสุดของต้น ที่เรามักพบว่ามักจะเลื้อยห้อยลงมาเมื่ออยู่บนเสาปูน ซึ่งยอดกิ่งไหลนั้นจะมีฮอร์โมนจิบเบอเรลลินสะสมอยู่ในส่วนปลายยอดและที่ยอดอ่อนเป็นจำนวนมาก พัฒนาการทางด้านการเจริญเติบโตและการพุ่งหาแสงจะมีค่อนข้างมาก ถ้านำมาปลูกเชิงการค้า คือปล่อยเลื้อยขึ้นเสาปูน ควรเลือกซื้อต้นพริกไทยที่ตอนหรือชำมาจากกิ่งไหลมาปลูก เพราะจะโตเร็ว เลื้อยเกาะขึ้นหลักเร็วกว่าต้นพริกไทยที่ได้จากกิ่งแขนง แต่จะให้ผลผลิตช้ากว่าต้นพันธุ์ที่ได้จากกิ่งแขนง ผลผลิตจะเริ่มเก็บได้ก็ประมาณ 8-14 เดือน หลังปลูก

ดังนั้น ถ้าปลูกแบบการค้าเลื้อยขึ้นเสาปูน จึงใช้ในส่วนของไหลยอดมาขยายพันธุ์เพราะเลื้อยขึ้นเสาค้างที่มีความสูงได้ดีนั้นเอง

คุณประเสริฐ เล่าว่า สารป้องกันกำจัดโรคและแมลงต้องหลีกเลี่ยงยาร้อน ยาน้ำมัน เน้นใช้ยาดูดซึมที่ค่อนข้างปลอดภัย ถ้าฉีดช่วงอากาศร้อนหรือบ่อยครั้ง จะทำให้ต้นชะงัก ใบสลด ยาเย็นกับยาร้อน ใช้ยาฆ่าแมลงอะไรได้บ้าง คุณประเสริฐ อธิบาย สำหรับยาเคมีฆ่าแมลงที่ใช้ต้องเป็นยาเย็นเป็นหลัก และวิธีที่สังเกตว่าอะไรเป็นยาเย็นหรือยาตัวไหนเป็นยาร้อน เบื้องต้นวิธีง่ายสุดคือ ให้ดูชื่อสามัญของยาว่า ตัวหลังเปอร์เซ็นต์ยาลงท้ายด้วยอะไร เช่น ถ้าลงท้ายด้วย คำว่า EC ให้คิดไว้ก่อนเลยว่า เป็นยาร้อน เพราะ 80 เปอร์เซ็นต์ เป็นยาร้อน อาจมีบางตัวที่สามารถฉีดได้ จึงควรศึกษาและเลือกใช้ยากับบริษัทที่เชื่อถือได้ ตัวอย่างเช่น

ชื่อสามัญ อะบาแม็กติน กำจัดหนอนชอนใบ ป้องกันเพลี้ยไฟ ไรแดง ไรขาว เป็นยาดูดซึม มีฤทธิ์อยู่ได้ 7-15 วัน

ชื่อสามัญ คลอไพรีฟอส กำจัดตระกูลหนอนเจาะดอก เพลี้ยอ่อน แมลงในดิน ตระกูลพืชกินหัวเสี้ยนดิน เป็นยาเย็นประเภทดูดซึม อยู่ได้ 10-15 วัน

ชื่อสามัญ เมโทมิล กำจัดฆ่าหนอนต่างๆ เพลี้ยอ่อน เป็นยาน็อกประเภทดูดซึม มีฤทธิ์อยู่ได้ 6-14 วัน

ชื่อสามัญ ไซเปอร์เมทริน 10% 25% 35% มี 3 เปอร์เซ็นต์ ให้เลือกใช้ เป็นยาน็อก ประเภทถูกตัวตาย หมดฤทธิ์เร็ว ไม่ใช้ยาดูดซึม เป็นยาค่อนข้างร้อน

ถ้าใช้มากเกินไป จะทำให้ดอกร่วงได้ ฆ่าหนอน แมลง (เต่าแตง) มดตายทันทีเมื่อฉีดถูกตัว เป็นต้น

แมลงศัตรูพริกไทย

เท่าที่พบคือ เพลี้ยอ่อน ชอบดูดกินน้ำเลี้ยงบริเวณยอดอ่อน ใบอ่อน ช่อดอก และผลอ่อน ทำให้ใบและยอดแคระแกร็น บิดงอ ไม่ติดเมล็ด

เพลี้ยแป้ง ตัวเต็มวัยดูดกินน้ำเลี้ยงจากช่อดอก ใบ และเถาพริกไทย เพลี้ยแป้งจะขับถ่ายมูลเป็นน้ำหวาน ป้องกันโดยฉีดพ่นด้วยมาลาไธออน หรือเด็ดกิ่งและเก็บตัวอ่อนเผาทำลาย นอกจากนี้ ก็มีมดและ

ด้วงงวงเจาะเถาพริกไทย ซึ่งจะทำลายเถาพริกไทย ทำให้เถาแห้งตาย ถ้าระบาดรุนแรงก็ฉีดพ่นด้วย คาร์บาริลหรือเผาทำลายเถาพริกไทยที่พบรอยเจาะของหนอนด้วงงวงระบาด

โรคพริกไทย จะเป็นกลุ่มของเชื้อรา ซึ่งถ้าสวนพริกไทยค่อนข้างร่มทึบ อากาศไม่ถ่ายเท มีน้ำขังแฉะ เกษตรกรต้องควบคุมรักษาสภาพแวดล้อมให้ดี ให้เหมาะสม หรือถ้าเชื้อราระบาดต้องงดการใส่หรือฉีดพ่นฮอร์โมนแก่ต้นพริกไทย

โรครากเน่า เป็นโรคสำคัญที่ทำความเสียหายมากที่สุด เกิดจากเชื้อรา อาการระยะแรกเถาจะเหี่ยวใบเปลี่ยนเป็นสีเหลืองและร่วง ต่อมาปราง (กิ่งแขนง) เริ่มหลุดเป็นข้อๆ ตั้งแต่โคนต้นถึงยอดขั้วกิ่งเป็นสีเหลืองและดำ ส่วนรากเน่าดำและมีกลิ่นเหม็น ป้องกันโดยอย่าให้น้ำขังในฤดูฝน เผาทำลายต้นที่เป็นโรค และฉีดพ่นด้วยสารฟอสอีทิลอะลูมิเนียม หรือสารฟอสฟอริก แอซิด

การป้องกันกำจัดหรือลดความเสียหายจากโรคในแปลงปลูก จัดการดินในพื้นที่แปลงปลูกให้มีการระบายน้ำได้ดี ไม่มีสภาพน้ำขัง ปรับปรุงดินด้วยอินทรียวัตถุ โดยการใส่ปุ๋ยคอก ปุ๋ยอินทรีย์ เพื่อให้ดินสามารถดูดซับธาตุอาหารได้ดี หากดินเป็นกรดควรปรับด้วยปูนขาวหรือปูนโดโลไมท์ ตัดแต่งกิ่งหรือแขนงตามบริเวณโคนต้นออกให้โปร่ง เพื่อลดความชื้นและให้มีอากาศถ่ายเทได้สะดวกดีขึ้นและไม่เป็นแหล่งสะสมโรค ไม่ควรเดินผ่านเข้าสวนขณะที่มีการระบาด และทำความสะอาดเครื่องมือก่อนเข้าสวน

โรคแอนแทรกโนส เกิดจากเชื้อรา ทำลายส่วนใบของพริกไทย เกิดเป็นจุดวงกลมสีน้ำตาลดำหรือสีดำ ผิวเป็นเงามัน รอบจุดเป็นสีเหลือง ตรงกลางแผลมีลักษณะเป็นวงสีน้ำตาลดำเรียงซ้อนกันเหมือนวงปีของเนื้อไม้ ถ้าเป็นรุนแรงอาจทำให้ตายได้ ป้องกันโดยตัดแต่งกิ่งและเก็บไปเผาทำลาย ฉีดพ่นด้วยเบนโนมิล หรือสลับแมนโคเซป หรือสลับคาร์เบนดาซิม

คุณประเสริฐ เล่าว่า ผลผลิตพริกไทยอ่อนตอนนี้ยังมีไม่มากก็จะขายในท้องถิ่นก่อน แต่การตอบรับค่อนข้างดี แม่ค้าแจ้งกลับมาว่ามีเท่าไหร่เอาหมด ตอนนี้เฉลี่ย กิโลกรัมละ 80-100 บาท แต่อนาคตเมื่อมีผลผลิตมากขึ้นก็ได้เตรียมตัวในเรื่องของการรวมกลุ่มกันไว้ระหว่างเพื่อนเกษตรกรด้วยกันที่มีหลายๆพื้นที่ เพื่ออนาคตจะได้รวบรวมผลผลิตขายหรือต่อรองราคากับโรงงานรับซื้อ

และอีกตัวอย่างเพื่อนเกษตรกรอีกท่าน คือ คุณสุชาติ บุญทั่ง อยู่บ้านเลขที่ 55 หมู่ที่ 2 ตำบลวังสำโรง อำเภอตะพานหิน จังหวัดพิจิตร โทร. (091) 391-9627 เกษตรกรผู้ปลูกพริกไทยอีกท่านหนึ่งที่ปลูกพริกไทยมาช่วงเวลาเดียวกับคุณประเสริฐ ซึ่งปลูกในพื้นที่ 1 งาน หรือ 100 หลัก ก็บอกเล่าประสบการณ์ว่า เป็นพืชชนิดใหม่ของตนเอง แต่จากที่ปลูกมา 1 ปีกว่า เหมือนการศึกษานิสัยของพริกไทยไปในตัว พบว่าเจริญเติบโตได้ดีในพื้นที่ของจังหวัดพิจิตรที่มีอากาศค่อนข้างร้อนตลอดทั้งปี แต่ด้วยการมุงซาแรนพรางแสง 60 เปอร์เซ็นต์ให้ มีการให้น้ำอย่างสม่ำเสมอ สร้างสภาพร้อนชื้น แต่ไม่แฉะตามที่พริกไทยชอบ

ปัจจุบัน ต้นพริกไทยที่กำลังเข้าสู่ปีที่ 2 เริ่มให้ผลผลิต เริ่มคืนทุนมีรายได้จากการขายพันธุ์พริกไทย และผลผลิตเริ่มมีให้เก็บได้บ้างแล้ว และราคาก็สูงพอสมควรเมื่อเทียบกับพืชชนิดอื่น เฉลี่ยกิโลกรัมละ 100 บาท ซึ่งในปีนี้คาดว่าจะผลิตพริกไทยอ่อนสู่ตลาดอย่างเต็มที่ เพราะอายุต้นค่อนข้างจะสมบูรณ์มาก ซึ่งคุณสุชาติ คาดว่าจะขยายพื้นที่ปลูกพริกไทยเพิ่มในอนาคตอย่างแน่นอน

Leave a comment