ศาสตร์เกษตรดินปุ๋ย : ขอบคุณแหล่งข้อมูล : หนังสือเทคโนโลยีชาวบ้าน
http://info.matichon.co.th/techno/techno.php?srctag=05081150359&srcday=2016-03-15&search=no
วันที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2559 ปีที่ 28 ฉบับที่ 619 |
เทคโนโลยีปศุสัตว์
ธนสิทธิ์ เหล่าประเสริฐ
เลี้ยงควายแบบประณีต สูตรศูนย์วิจัยฯ ปศุสัตว์ที่ 4 สารคาม
จากที่เมื่อเร็วๆ นี้ ได้ร่วมกับกรมปศุสัตว์ กับคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น สมาคมอนุรักษ์และพัฒนาควายไทย และองค์กรเครือข่ายต่างๆ จัดงานกระบือแห่งชาติ ครั้งที่ 20 ประจำปี 2559 ขึ้น ภายใต้แนวคิด “คนสร้างชาติ ควายสร้างคน บนรอยพ่อสอน” ณ อุทยานเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยขอนแก่น อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น
จุดประสงค์เพื่อเผยแพร่องค์ความรู้ให้แก่เกษตรกรและผู้สนใจให้ได้รับความรู้ด้านการจัดการเลี้ยงดูควาย การป้องกันและกำจัดโรคระบาดสัตว์ และการพัฒนาเทคโนโลยีอาหารสัตว์เน้นให้เห็นความสำคัญของการคัดเลือกและปรับปรุงพันธุ์ควาย
หนึ่งในข้อมูลที่น่าสนใจ นอกเหนือจากกิจกรรมในงานคือ ตัวเลขประชากรควายของประเทศไทย ซึ่งทางกรมปศุสัตว์ได้บอกว่า มีปริมาณลดลงอย่างน่าตกใจ
ควายลดวูบ เหลือ 7 แสนตัว
โดย นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า เนื่องจากการประกอบอาชีพทำนาปัจจุบันมีการใช้เครื่องจักรกลการเกษตรแทนแรงงานควายเกือบ 100% ทำให้ควายหมดความสำคัญ ประกอบกับมีการนำควายเพศเมีย ควายที่ตั้งท้อง และควายอายุน้อยมาบริโภคมากขึ้น โดยมีการบริโภคปีละกว่า 200,000 ตัว ขณะที่มีลูกเกิดปีละประมาณ 150,000 ตัว เท่านั้น
นอกจากนี้ เกษตรกรยังมีปัญหาขาดแคลนพื้นที่เลี้ยงควายและแรงงาน โดยเฉพาะฤดูเพาะปลูกข้าวทำให้ขาดแคลนหญ้าอาหารสัตว์ เพราะมีการแย่งชิงพื้นที่ไปทำประโยชน์อื่น ส่งผลให้เกษตรกรไม่อยากเลี้ยงและขายควายออกไป ขณะเดียวกัน ไทยยังมีการส่งออกควายมีชีวิตทั้งเพศผู้และเพศเมียไปต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง อาทิ จีน และกลุ่มอาเซียน เช่น เวียดนาม ซึ่งมีความต้องการควายเพิ่มมากขึ้น ทำให้จำนวนควายของไทยลดลงอย่างรวดเร็วจากปี 2548 ที่มีมากถึง 1,624,919 ตัว เกษตรกรผู้เลี้ยงควาย 393,352 ราย ในปี 2558 ลดเหลือประมาณ 700,000 ตัว เกษตรกรประมาณ 185,000 ราย
ซึ่งแนวทางการส่งเสริมและพัฒนาควายไทย รองอธิบดีกรมปศุสัตว์กล่าวว่า กรมปศุสัตว์ได้มีแผนเร่งดำเนินโครงการอนุรักษ์และพัฒนาการผลิตควาย ภายใต้โครงการปรับโครงสร้างการผลิตและความมั่นคงทางอาหารด้านปศุสัตว์ เพื่อเร่งรัดการผลิตควายและมีมาตรการปกป้องพันธุ์ควายเพศเมียวัยเจริญพันธุ์ตามนโยบายเร่งด่วนของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยเร่งกระตุ้นให้เกษตรกรหันกลับมาเลี้ยงควายเพิ่มมากขึ้น เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดทั้งภายในและต่างประเทศ เบื้องต้นกรมปศุสัตว์ได้ของบประมาณจากคณะรัฐมนตรีจำนวน 500 ล้านบาท เพื่อจัดซื้อควายให้กับเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการส่งเสริมการเลี้ยงควายจำนวน 5,000 ราย เป็นเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำเพื่อให้เกษตรกรจัดซื้อควายตามที่กรมปศุสัตว์กำหนด เพื่อเพิ่มปริมาณฐานแม่ควายในประเทศมากขึ้น
นอกจากนั้น ยังเร่งเสริมสร้างความเข้มแข็งและเพิ่มศักยภาพการผลิตให้ครอบคลุมห่วงโซ่การผลิตในพื้นที่ที่เหมาะสม รวมทั้งพัฒนาและอนุรักษ์พ่อ/แม่พันธุ์ดีให้กับกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงควายจำนวน 500 กลุ่ม พร้อมส่งเสริมสนับสนุนการปลูกพืชอาหารสัตว์และส่งเสริมการผสมเทียมควายด้วยน้ำเชื้อพ่อพันธุ์ดีอีกว่า 20,000 ตัว จะทำให้ได้ลูกควายที่มีลักษณะดี เลี้ยงง่ายและโตเร็ว ซึ่งคาดว่า ภายใน 5 ปีข้างหน้า ปริมาณควายของไทยจะเพิ่มขึ้นถึง 1 ล้านตัว
ทั้งนี้ สำหรับมาตรการเพื่อปกป้องพันธุ์ควาย กรมปศุสัตว์ได้มีการจัดทำเครื่องหมายประจำตัวสัตว์ และบังคับใช้กฎหมายโดยใช้อำนาจตาม พ.ร.บ. โรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558 และ พ.ร.บ. ควบคุมการฆ่าและจำหน่ายเนื้อสัตว์ พ.ศ. 2535 (กฎกระทรวง พ.ศ. 2546) เช่น ห้ามส่งควายเพศเมียออกนอกประเทศ ห้ามส่งแม่ควายตั้งท้องหรือแม่ควายเลี้ยงลูกอ่อนเข้าโรงฆ่าสัตว์ และเพิ่มศักยภาพการควบคุมการเคลื่อนย้ายสัตว์ เป็นต้น
“ขณะนี้ควายมีราคาค่อนข้างแพงโดยเฉพาะพ่อแม่ควายพันธุ์ดี มีราคาสูงถึงตัวละ 30,000-50,000 บาท นอกจากนั้น ควายเผือกยังมีราคาสูงด้วย เนื่องจากมีปริมาณน้อยและนับวันยิ่งหาค่อนข้างยาก หากเกษตรกรหันมาเลี้ยงควายเสริมอาชีพ เป็นช่องทางหนึ่งที่จะช่วยสร้างรายได้เพิ่มสูงขึ้น ทั้งยังได้มูลควายเป็นผลพลอยได้ สามารถผลิตเป็นปุ๋ยคอกนำไปใช้ปรับปรุงบำรุงดิน หรือจำหน่ายเป็นรายได้เสริมอีกทางหนึ่ง” รองอธิบดีกรมปศุสัตว์กล่าว
มาเลี้ยงควายแบบประณีต สูตรศูนย์วิจัยฯ ปศุสัตว์ที่ 4 สารคาม
ขณะเดียวกัน ยังมีข้อมูลนำเสนอถึงการเลี้ยงควายในลักษณะที่เรียกว่า เลี้ยงแบบประณีต อันเป็นข้อแนะนำของศูนย์วิจัยและพัฒนาการปศุสัตว์ที่ 4 จังหวัดมหาสารคาม ในสังกัดกองส่งเสริมและพัฒนาการปศุสัตว์ กรมปศุสัตว์ โทร. (043) 777-600 ซึ่งวิธีการดังกล่าวยังสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับการเลี้ยงวัวเนื้อของเกษตรกรได้เป็นอย่างดี
ทั้งนี้ คุณชัชวาล ประเสริฐ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการปศุสัตว์ที่ 4 กล่าวว่า การเลี้ยงควายแบบประณีต หรือ Intensive Farm System เป็นรูปแบบการจัดฟาร์มสำหรับเกษตรกรรายย่อยที่เลี้ยงแม่พันธุ์ควาย ภายใต้ระบบการบริหารจัดการพื้นที่ อุปกรณ์ และเครื่องมือเท่าที่จำเป็นให้เหมาะสมกับแรงงาน โดยใช้เวลาไม่เกิน 4 ชั่วโมง เพื่อแก้ปัญหาพื้นที่ปล่อยเลี้ยงที่มีจำกัด
“ขณะนี้ทางศูนย์วิจัยและพัฒนาการปศุสัตว์ที่ 4 ได้จัดทำฟาร์มสาธิตการเลี้ยงควายแบบประณีต ภายใต้สภาพพื้นที่ของจังหวัดมหาสารคามที่อยู่นอกเขตชลประทาน เป็นพื้นที่ราบเรียบ ดินมีลักษณะร่วนหยาบปนดินทราย และมีปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยตลอดปีน้อยกว่า 2,540 มิลลิเมตร และเน้นการจัดการเลี้ยงแบบประณีต ซึ่งเกษตรกรที่สนใจสามารถมาศึกษาเรียนรู้ได้” คุณชัชวาล กล่าว
ภายในฟาร์มสาธิตดังกล่าว จะเน้นการให้ความรู้เกี่ยวกับการจัดการฟาร์ม ประกอบด้วย 5 ด้านที่สำคัญ คือ
หนึ่ง ด้านแรงงาน วัสดุอุปกรณ์และเครื่องมือ
– แรงงานที่แนะนำคือ 1 คน อุปกรณ์ประกอบด้วย
– รถเข็น 1 คัน โดยให้มีขนาดความกว้างประมาณ 70 เซนติเมตร ยาว 150 เซนติเมตร สูง 40 เซนติเมตร รถเข็นขนาดดังกล่าวเกษตรกรสามารถบรรจุหญ้าได้เต็มที่ประมาณ 40-60 กิโลกรัม ต่อครั้ง
– เครื่องตัดหญ้าสะพายไหล่ ขนาด 1.5 แรงม้า 1 เครื่อง จะสามารถตัดหญ้าได้ประมาณ 165 กิโลกรัม ต่อชั่วโมง
– เครื่องหั่นสับ ขนาด 1.5 แรงม้า จำนวน 1 เครื่อง จะสับหญ้าได้ประมาณ 120 กิโลกรัม ต่อชั่วโมง
– เครื่องสูบน้ำ 1 แรงม้า จำนวน 2 เครื่อง เพื่อใช้ในสูบและส่งน้ำ กรณีที่มีระยะทางไกล
– ถังหมักหญ้า ขนาด 150 ลิตร จำนวน 40 ใบ โดยถัง 1 ใบ จะสามารถทำหญ้าหมักได้ประมาณ 60 กิโลกรัม
สอง ด้านการจัดการโรงงานสำหรับเลี้ยงแม่พันธุ์จำนวน 5 ตัว
– พื้นที่คอก ควรมีขนาด 15×15 เมตร ประกอบด้วยพื้นที่ภายในโรงเรือน ขนาด 3×6 เมตร
– รางอาหาร กว้าง 0.8 เมตร ยาว 5.60 เมตร สูง 0.60 เมตร
– อ่างอาบน้ำสำหรับควายที่เลี้ยง ขนาดที่เหมาะสมคือ กว้าง 2 เมตร ยาว 3 เมตร ลึก 0.70 เมตร สามารถบรรจุน้ำได้ 3,000 ลิตร
– แรงงาน 1 คน จะใช้เวลาในการทำความสะอาดคอก 30 นาที ต่อวัน
– อีกส่วนที่จะเป็นผลพลอยได้ของเกษตรกรคือ มูล โดยควาย 1 ตัว จะให้มูลเฉลี่ย 11 กิโลกรัม ต่อตัว ต่อวัน ในขณะที่วัว ให้มูลเฉลี่ย 7.50 กิโลกรัม ต่อตัว ต่อวัน
สาม ด้านการจัดการให้อาหารสัตว์
– แม่พันธุ์ควาย จำนวน 5 ตัว จะต้องกินหญ้าประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ของน้ำหนักตัว หรือประมาณ 250 กิโลกรัม ต่อวัน กรณีที่เกษตรกรปลูกหญ้าเนปียร์ จะต้องมีการจัดการให้พืชอาหารสัตว์ตามประสิทธิภาพผลผลิตหญ้า โดยในช่วงฤดูฝน ประมาณเดือนมิถุนายน-กันยายน รวมประมาณ 120 วัน จะให้กินหญ้าสดอย่างเดียวประมาณ 250 กิโลกรัม ต่อวัน ส่วนช่วงฤดูแล้ง ตั้งแต่เดือนตุลาคม-พฤษภาคม รวมระยะเวลา 245 วัน จะให้กินหญ้าสด 190 วัน และหญ้าหมัก 60 กิโลกรัม
โดยเมื่อรวมแล้ว เกษตรกรจะต้องให้หญ้าแก่แม่ควายที่เลี้ยงทั้งหมด 91.25 ตัน ต่อปี แบ่งเป็นหญ้าสด 76.55 ตัน และหญ้าหมัก 14.70 ตัน
– ระยะเวลาที่ใช้ในการตัดหญ้าต่อวัน ประมาณ 1 ชั่วโมง 30 นาที และหากรวมระยะเวลาในการหั่นสับอีก 2 ชั่วโมง รวมเกษตรกรต้องจัดการเกี่ยวกับหญ้าประมาณ 3 ชั่วโมง 30 นาที
– ในแต่ละปีเกษตรกรต้องมีต้นทุนค่าพืชอาหารสัตว์ประมาณ 6,475 บาท ต่อตัว
สี่ ด้านการจัดการแปลงหญ้า
– พันธุ์หญ้าที่แนะนำคือ หญ้าเนเปียร์ โดยพื้นที่แปลงหญ้า 1 ไร่ จะใช้ระยะปลูกประมาณ 60×40 เซนติเมตร จะได้จำนวนกอประมาณ 2,688 กอ
– การให้น้ำหญ้าเนเปียร์ที่ปลูก ในช่วง 3 สัปดาห์แรกหลังจากการตัด ให้น้ำสัปดาห์ละ 1 ครั้ง จากนั้นอีก 15 วัน ให้น้ำอีก 1 ครั้ง
– การให้ปุ๋ย มีข้อแนะนำว่าควรใส่ปุ๋ยคอกทุกครั้งหลังจากการตัด จากนั้นเมื่อเริ่มแตกหน่อให้ใส่ปุ๋ยยูเรียประมาณ 15 กิโลกรัม ต่อไร่ ต่อครั้ง
– การตัด ตัดครั้งแรกเมื่อหญ้าเนเปียร์ที่ปลูกอายุได้ 60 วัน จากนั้นตัดทุกๆ 45 วัน รวมทั้งปีจะสามารถตัดหญ้าได้ประมาณ 8 ครั้ง
– ผลผลิตของหญ้าเนเปียร์ที่ปลูกในพื้นที่ 1 ไร่ ถ้าเป็นฤดูฝน ตั้งแต่เดือนมิถุนายน-กันยายน จะได้ประมาณ 19 ตัน ต่อครั้ง ส่วนฤดูแล้ง เดือนตุลาคม-พฤษภาคม จะได้ประมาณ 10 ตัน ต่อครั้ง รวมผลผลิตทั้งหมด 100 ตัน ต่อปี ทั้งนี้ ต้นทุนในการผลิตอยู่ประมาณ 0.35 บาท ต่อกิโลกรัม
ห้า ด้านการทำหญ้าเนเปียร์หมัก
– ทางฟาร์มสาธิตจะทำการหมักหญ้าด้วยถังหมักขนาด 150 ลิตร ซึ่งสามารถหมักหญ้าได้ประมาณ 60 กิโลกรัม
– เวลาที่ใช้หมัก ทั้งหมด 1 ชั่วโมง ต่อถัง โดยแบ่งเป็นต้นหญ้าจากแปลง 23 นาที หั่นสับ 30 นาที อัดใส่ถัง 27 นาที และทำการหมักอีก 20 นาที
– ต้นทุนการผลิตหญ้าหมัก ประมาณ 0.38 บาท ต่อกิโลกรัม หรือ 22.84 บาท ต่อถัง
ทั้งหมดนี้คืออีกหนึ่งข้อแนะนำเกี่ยวกับการเลี้ยงควายแบบประณีตที่สามารถนำไปปรับใช้กับการเลี้ยงได้เป็นอย่างดี
“นทพ.” เดินหน้าพัฒนาอาชีพเลี้ยงโค พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
ช่วยเกษตรกรช่วงราคาตกต่ำ
สิริพร ปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา/รายงาน
การทำสวนยางพารา เป็นอาชีพที่พี่น้องชาวจังหวัดชายแดนภาคใต้ ยึดเป็นอาชีพหลัก และเป็นวิถีชีวิตประชาชนในพื้นที่มาอย่างยาวนาน เมื่อเศรษฐกิจโลกเติบโต ความต้องการใช้ยางพาราก็เพิ่มมากขึ้น ดังนั้น ในช่วงที่ราคายางพาราพุ่งสูงขึ้น ชาวสวนยางจึงมีรายได้เป็นกอบเป็นกำ มีคุณภาพชีวิตที่ดี เกษตรกรหันมาลงทุนปลูกยาง มีการขยายพื้นที่การปลูกอย่างมากมายจนเกือบทั่วประเทศ
จากปี 2553 ที่ประเทศไทยมีพื้นที่ปลูกยางพาราจำนวน 18 ล้านไร่ และในปี 2559 มีพื้นที่ปลูกอยู่ที่ 19.6 ล้านไร่ เพิ่มขึ้น 1.6 ล้านไร่
แต่เมื่อเกิดภาวะการผลิตยางพาราที่มากกว่าความต้องการของตลาด กอปรกับสภาวะทางเศรษฐกิจของโลกชะลอตัวลง ส่งผลให้ราคายางพาราตกลงอย่างต่อเนื่อง ทำให้พี่น้องเกษตรกรชาวสวนยางในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ประสบปัญหารายได้จากสวนยางที่ลดน้อยลง มีความเดือดร้อนเป็นวงกว้าง
กองบัญชาการกองทัพไทย ได้ตระหนักถึงผลกระทบจากสถานการณ์ราคายางพาราในขณะนี้ที่ทำให้เกษตรกรชาวสวนยางในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ประสบความเดือดร้อน และได้รับนโยบายจากรัฐบาลและกระทรวงกลาโหม ในการหาช่องทางช่วยเหลือบรรเทาแก้ไขปัญหา และส่งเสริมอาชีพเพื่อเพิ่มรายได้ให้แก่ประชาชนผู้ที่ปลูกสวนยางพารา อย่างเป็นระบบเป็นการเร่งด่วน
พล.อ. สมหมาย เกาฏีระ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ผบ.สส.) จึงมอบหมายให้ พล.อ. หัสพงศ์ ยุวนวรรธนะ ผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการทหารพัฒนา (นทพ.) กองบัญชาการกองทัพไทย เร่งดำเนินการจัดทำ โครงการ “ส่งเสริมอาชีพและพัฒนาคุณภาพชีวิตจังหวัดชายแดนภาคใต้” เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาชายแดนภาคใต้และช่วยเหลือเกษตรกรเพื่อเป็นรายได้เสริมให้แก่เกษตรกรในสภาวะราคายางพาราตกต่ำ
หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา ได้จัดทำโครงการ “ส่งเสริมอาชีพและพัฒนาคุณภาพชีวิตจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ. 2558-2560” ขึ้น โดยเน้นให้ชุดบริการผสมเทียมโค ของหน่วยพัฒนาการเคลื่อนที่ นำน้ำเชื้อโคเนื้อพันธุ์ดีที่ได้นำเข้าจากต่างประเทศหลายสายพันธุ์ มาให้บริการผสมเทียมโคให้แก่ราษฎรโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย
นอกจากนี้ ยังได้ส่งเสริมด้วยการฝึกอบรมราษฎรในพื้นที่ เพื่อเป็นสมาชิกเครือข่ายอาสาสมัครผสมเทียมและปศุสัตว์ โดยใช้น้ำเชื้อโคพันธุ์ดีจากหน่วยบัญชาการทหารพัฒนา รวมทั้งขั้นตอนและวิธีการเลี้ยงโคอย่างถูกต้อง ให้ได้โคพันธุ์เนื้อคุณภาพ ในอันที่จะให้กลุ่มผู้เลี้ยงโคสามารถดูแลพึ่งพาตนเองได้
อาสาสมัครผสมเทียม/อาสาสมัครปศุสัตว์ ที่ส่งเสริมนี้เป็นเกษตรกรแกนนำมีบทบาทหน้าที่ในการจัดตั้งกลุ่มเกษตรกร ผู้เลี้ยงโค เป็นผู้ดูแลให้คำแนะนำเกษตรกรในด้านการเลี้ยงโค การจัดทำแปลงหญ้าอาหารสัตว์ มีเป้าหมายในระยะเวลา 3 ปี จะต้องจัดตั้งให้ได้ 66 กลุ่ม มีสมาชิก 1,000 ราย ปริมาณโคเนื้อลูกผสมในพื้นที่จะเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 3,000 ตัว มูลโคสามารถนำไปผลิตเป็นปุ๋ยได้หลายตัน มีการบริหารจัดการกลุ่มที่เข้มแข็ง การจัดการตลาด สร้างผลิตภัณฑ์
โดยในอนาคตจะพัฒนาเป็นสหกรณ์กลุ่มผู้เลี้ยงโค
จากการดำเนินการมาเป็นเวลาประมาณ 1 ปี สามารถจัดตั้งกลุ่มที่เข้มแข็งได้แล้ว 38 กลุ่ม สมาชิกกว่า 500 ราย
นอกจากนี้ ยังได้จัดตั้ง ศูนย์การเรียนรู้การเลี้ยงโคเนื้อในพื้นที่ โครงการฟาร์มตัวอย่างในสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ บ้านปิยา ตำบลปิยามุมัง อำเภอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี เพื่อใช้เป็นแหล่งเรียนรู้ การเลี้ยงโคครบวงจร ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการพัฒนาสายพันธุ์ การผสมพันธุ์ การเลี้ยงโคให้ได้มาตรฐาน การรักษาโค การปลูกหญ้า การทำอาหารโค และอื่นๆ
จะเห็นได้ว่าโครงการ “ส่งเสริมอาชีพและพัฒนาคุณภาพชีวิตจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ. 2558-2560” ของหน่วยบัญชาการทหารพัฒนา กองบัญชาการกองทัพไทย ซึ่งเป็นโครงการที่มุ่งเน้นในการส่งเสริมการเลี้ยงโค ดำเนินการอย่างมีระบบและต่อเนื่อง สนับสนุนรัฐบาลในการช่วยเหลือราษฎรให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น สร้างอาชีพเสริม สร้างรายได้เพิ่มขึ้นจากการเลี้ยงโคที่ได้รับการพัฒนาสายพันธุ์ เพื่อเพิ่มมูลค่าโค
ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบราคาลูกโคพันธุ์พื้นเมืองอายุ 1 ปี จำหน่ายได้ใน ราคา 8,000-10,000 บาท ต่อตัว โคเนื้อลูกผสมอายุ 1 ปี ราคาถึง 20,000-30,000 บาท ต่อตัว
ทำให้เกษตรกรบางรายได้ยึดเป็นอาชีพหลักทดแทนอาชีพเดิมในการทำสวนยางพารา มีการรวมกลุ่มที่เข้มแข็ง นำมาซึ่งความมั่นคงทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้ในอนาคตต่อไป
เตือนทำแนวกั้นไฟ ป้องกันไฟไหม้สวนยางภัยแล้ง
คุณเชาว์ ทรงอาวุธ ผู้ปฏิบัติหน้าที่ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย กล่าวว่า จากสถานการณ์ภัยแล้งในปีนี้ที่คาดการณ์ว่าน่าจะมีความรุนแรง การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) มีความห่วงใยสวนยางพาราของพี่น้องเกษตรกรชาวสวนยางในแต่ละพื้นที่ ที่อาจขาดแคลนน้ำจนก่อให้เกิดความแห้งแล้ง ซึ่งในช่วงแล้งเป็นช่วงที่อากาศร้อนและมีแสงแดดแรง เป็นสาเหตุทำให้ดินแห้ง และส่งผลกระทบต่อต้นยางพารา เกษตรกรจึงควรให้ความสำคัญในการดูแลสวนยาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งสวนยางปลูกใหม่ และสวนยางเล็ก อายุไม่เกิน 3 ปี ควรเตรียมการล่วงหน้าก่อนเข้าสู่ช่วงแล้งประมาณ 1 เดือน โดยควรจัดการสวนยางอย่างถูกต้องเหมาะสม เช่น การกำจัดวัชพืชในสวนยาง พร้อมทั้งหาเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เช่น ซากวัชพืช หญ้าคา หรือฟางข้าว มาคลุมโคนต้นยางเพื่อรักษาความชุ่มชื้นในดิน รวมถึงการตัดแต่งกิ่งต้นยางเพื่อลดแรงต้านลม และใช้ปูนขาวทาบริเวณที่ตัดแต่งกิ่ง ซึ่งการจัดการและหมั่นตรวจตราดูแลสวนยางอย่างสม่ำเสมอจะช่วยลดความเสี่ยงต่อความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากภัยแล้งได้
“พี่น้องชาวสวนยางควรการทำแนวกันไฟในสวนยางเพื่อป้องกันไฟลุกลามจากบริเวณใกล้เคียง โดยการขุดถากวัชพืชและเก็บซากพืชบริเวณรอบๆ สวนยาง ออกเป็นแนวกว้างประมาณ 3-5 เมตร และควรกำจัดวัชพืชบริเวณแถวยางออก ข้างละ 1 เมตร แล้วนำเศษวัชพืชมาคลุมโคนต้นยาง และหลีกเลี่ยงการใช้สารเคมีกำจัดวัชพืชในหน้าแล้ง เพราะวัชพืชที่แห้งตายอาจเป็นเชื้อเพลิงทำให้เกิดไฟไหม้สวนยางได้”
“นอกจากนี้ แสงแดดในช่วงที่มีอากาศร้อนอาจทำให้ต้นยางพารามีรอยไหม้ เกษตรกรสามารถแก้ไขได้โดยใช้ปูนขาวละลายน้ำทาบริเวณโคนต้น สูงจากพื้นดินประมาณ 1 เมตร รวมถึงการปลูกพืชแซมในสวนยางที่ให้ความชุ่มชื้นกับดิน อาทิ กล้วย และสับปะรด ก็สามารถช่วยสร้างรายได้เสริมให้กับพี่น้องชาวสวนยางระหว่างช่วงปิดกรีดอีกทางหนึ่ง พี่น้องเกษตรกรชาวสวนยาง สามารถขอคำปรึกษาการดูแลสวนยาง และข้อมูลที่สนใจเพิ่มเติมได้ที่ การยางแห่งประเทศไทยในทุกพื้นที่ใกล้บ้าน” คุณเชาว์ กล่าวทิ้งท้าย